โฆษณาต้านคอรัปชั่นที่โดนแบน

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555


รัฐธรรมนูญประเทศสหรัฐอเมริกา



        เรารู้จัก สหรัฐอเมริกา (United States of America : U.S.A.) กันดีมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับรู้ผ่านทางภาพยนตร์ Hollywood) ทั้งที่อยู่ห่างไกลกันคนละฟากของโลก ในฐานะดินแดนแห่งเสรีภาพ และในฐานะประเทศมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกปัจจุบัน นับแต่ช่วงหลังยุคสงครามเย็นสิ้นสุด

Mount rushmore

Statue of liberty
 
8.1 บริบทต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา
Area: 9,809,155 sq. km
Population: 281,421,906 (2000)
Capital: Washington, DC
Government: Federal Republic (since 1789) Gained    independence from the UK in 1776
Head of State and Government: President George W Bush (since 2001)
Language: English
Religion: Protestant with Roman Catholic
8.2 ประวัติของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา

     ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มแรกเกิดจากการที่ 13 ดินแดนอาณานิคมของอังกฤษรวมตัวกันเป็นสภาแห่งทวีป    (Continental Congress)    เพื่อต่อสู้ปลดแอก  จากการปกครองอย่างกดขี่ข่มเหงของอังกฤษ นำไปสู่การประกาศอิสรภาพ(The Declaration of Independence) โดยตั้งขึ้นเป็นประเทศเกิดใหม่แยกตัวเองจากอาณัติของอังกฤษเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 (ID4 : Independent Day)  ซึ่ง ถือว่าเป็นวันชาติสหรัฐฯ มาจนทุกวันนี้  และทำสงครามเพื่อเอกราชอันยาวนานจนได้รับชัยชนะในที่สุด
Independence
 
Declarations

     ในปีเดียวกับที่มีการประกาศอิสระภาพนั่นเอง แต่ละรัฐ ต่างก็จัดทำรัฐธรรมนูญของตนเอง เพื่อใช้เป็นรากฐานในการปกครอง พร้อมความตกลงเป็นสัญญาระหว่างรัฐอิสระทั้งหมดว่าด้วยการกำหนดรูปแบบของประเทศเป็นแบบสมาพันธรัฐ เสมือนรัฐธรรมนูญ ที่เรียกกันว่า บทบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐ (Articles of Confederation) อันเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ระหว่างรัฐ โดยให้สภานิติบัญญัติเป็นรัฐบาลกลางมีหน้าที่คอยประสานงาน ปรากฏว่า รัฐบาลกลางของสมาพันธรัฐมีความอ่อนแอ ไม่มีอำนาจควบคุมรัฐบาลของแต่ละรัฐได้ และขาดอำนาจบริหารในกิจการทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สามารถเก็บภาษีต่างๆ ทำให้ไม่มีรายได้ดำเนินการบริหารประเทศ ตลอดจนอำนาจการติดต่อระหว่างประเทศนั้น รัฐต่างๆ ก็ดำเนินการเอง เพราะรัฐบาลของแต่ละรัฐไม่ยอมมอบอำนาจให้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ก็เพราะว่า ยังไม่มีกฎหมายสำคัญเป็นบรรทัดฐานในการปกครอง คือ ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ  นั่นเอง

     เนื่องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว  มีข้อบกพร่องนานาประการ  ทำให้มีปัญหาต่างๆ ระหว่างรัฐและ รัฐบาลกลางเกิดขึ้น  ถึงจำต้องแก้ไข   โดยการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ       (The Constitutional Convention) ในปี 1787 ณ เมืองฟิลาเดลเฟียของ 55 ผู้แทนจากรัฐต่างๆ ทั้งที่ ในตอนแรกทั้งหมด มีเจตนาจะมาทบทวน  เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐเดิม   แต่พอถึงแล้วกลับกลายมา เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่   โดยมุ่งจัดรูปรัฐบาลกลางใหม่ที่มีอำนาจบริหารประเทศอย่างแท้จริงขึ้น มาหลังจากใช้เวลาร่างนานประมาณ 4 เดือน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็แล้วเสร็จ และได้ลงนาม เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1787 แล้วผู้แทนของแต่ละรัฐก็จึงนำร่างรัฐธรรมนูญกลับไปให้สภานิติบัญญัติในรัฐของตนให้สัตยาบัน  (ratification) ขณะนั้นมีรัฐน้อยใหญ่ขอผนวกเข้ามาด้วยอีกมากมาย  จนกระทั่งได้รับความเห็นชอบครบถ้วนอย่างเป็นทางการจาก 39  รัฐ และกำหนดให้มีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์นับแต่วันที่ 4 มีนาคม เมื่อปี 1789 เป็นต้นมาจากรัฐดั้งเดิม 13 รัฐที่ตั้งเรียงรายอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออกของอเมริกาก็ได้ขยายตัวไปทางตะวันตกจนถึงอีกฟากหนึ่งของทวีป  บัดนี้   สหรัฐอเมริกาประกอบด้วย 50 รัฐ ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน โดยรัฐที่เพิ่มเข้ามาหลังสุด ก็คือ รัฐอลาสกา และรัฐฮาวาย

 
8.3 ที่มาของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา

     แนวความคิดบางส่วนที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นของใหม่ ยุคสมัยที่ประเทศสำคัญ ๆ ในยุโรปทั้งหมด มีเจ้าผู้ปกครองแบบสืบสันตติวงศ์ความคิดที่ให้มีประธานาธิบดีเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งในระยะเวลาอันจำกัด ก็นับว่าเป็นความคิดแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่วิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดีก็เป็นแบบฉบับเฉพาะของระบบอเมริกันซึ่งไม่เหมือนใครแต่ก็มีความคิดอยู่มากได้มาจากจารีตประเพณีทางการปกครองของอังกฤษ ตลอดจนประสบการณ์ของบรรดาผู้แทนรัฐที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เนื่องจากท่านเหล่านี้ ล้วนเป็นบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ อีกทั้งยังได้ผ่านสงครามกู้อิสรภาพปลดแอกจากอังกฤษด้วย เช่น จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) วีรบุรุษคนสำคัญ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพปฏิวัติในสงครามประกาศเอกราช ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมร่างรัฐธรรมนูญ และประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐ เบนจามิน แฟรงคลินนักวิทยาศาสตร์อาวุโส ผู้เฉลียวฉลาด และเป็นทั้งนักวิชาการและนักการทูต และ เจมส์ เมดิสัน คือ ผู้ที่มักได้รับการกล่าวขานว่าเป็นบิดาแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
         งานเขียนของนักปรัชญาการเมืองยุโรป โดยเฉพาะหลักการแบ่งแยกอำนาจของ มองเตสกิเออและแนวความคิดเรื่องการปกครองตนเองของ จอห์น ล็อค ก็มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน กล่าวคือ นักปรัชญาเหล่านี้ มีส่วนเป็นอันมาก ในการเพาะและเสริมสร้างแนวความคิดเรื่องการปกครองตนเอง การจัดระบบการปกครองและการผดุงสิทธิมนุษยชนในประเทศสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นเมื่อมีการประกาศอิสรภาพ และจัดทำรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา ก็ได้มีการนำปรัชญาดังกล่าวมาแปรรูปเป็นลายลักษณ์อักษรจารึกลงในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
George Washington 
          แน่นอน คำประกาศเอกราช ก็เป็นแนวทางที่สำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐต่างๆ ยึดมั่นอยู่กับความคิดเรื่องการปกครองตนเองและการรักษาสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังความตอนหนึ่งที่ประกาศว่า “เราถือข้อความจริงนี้ให้ปรากฏชัดแจ้งในตัวเองว่า … ผู้ปกครอง หรือ รัฐบาล จะตั้งขึ้นได้ในหมู่ราษฎรก็โดยอาศัยอำนาจอันชอบธรรม ซึ่งมาจากความเห็นชอบของราษฎรผู้ถูกปกครอง”  นั่นเอง

 
8.4 รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา : เอกสารอันยั่งยืน

    “…รัฐธรรมนูญนี้เขียนขึ้น โดยมีเจตนารมณ์ ให้ใช้ยั่งยืนไปอีกนานๆด้วยเหตุนั้น จึงให้ปรับได้เพื่อรับกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่พึงเกิดขึ้นในกิจกรรมของมนุษย์…”  จอห์น มาร์แชล หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุด ในคดีระหว่างแมคคัลลอค กับ รัฐแมรี่แลนด์ ค.ศ. 1819

     
      รัฐธรรมนูญแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1789) คือ เครื่องมือสำคัญของการปกครองของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นฉบับแรกของโลกที่ใช้คำเรียกตัวเองว่าเป็น รัฐธรรมนูญ (Constitution) และเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร (Written Constitution) ที่ยังใช้บังคับอยู่ยาวนาน และเก่าแก่ที่สุดในโลก กล่าวคือ มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียง 27 ครั้ง เท่านั้น ในช่วงเวลา 200 กว่าปีมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญอื่นๆ มากมายทั่วโลก
การประกาศรัฐธรรมนูญ
 
        การที่ยั่งยืนอยู่เรื่อยมาได้เพราะเขียนขึ้นอย่างเรียบง่ายไม่กำหนดรายละเอียดมากมาย สิ่งที่ถูกกำหนดเป็นเพียงหลักการกว้างๆ เท่านั้น แต่จะเปิดช่องเอาไว้ เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามสมควร ดังนั้นรัฐธรรมนูญสหรัฐ จึงมีความยืดหยุ่นมาก ดังคำกล่าวเตือนของ เจมส์ เมดิสัน ผู้แทนรัฐเวอร์จิเนีย ต่อผู้แทนของรัฐในการประชุมร่างรัฐธรรมนูญที่ว่า “ในการกำหนดระบบที่เราประสงค์จะให้อยู่ยั่งยืนไปอีกหลายยุคหลายสมัย เราต้องไม่มองข้ามความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะมีมากับยุคสมัย”  ความยืดหยุ่นนี่เอง คือ ความแข็งแกร่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าหากไม่มีลักษณะเช่นนี้แล้วก็มองไม่เห็นทางเลยว่า เอกสารที่ร่างขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว จะยืนยงคงอยู่มาจนกระทั่งถึงยุคโลกาภิวัฒน์ เช่น ณ เวลานี้ ได้อย่างไร
James Madison
 

      นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็น กฎหมายสูงสุดของประเทศ (the SupremeLaw of the Land) ตามมาตรา 6 อนุมาตรา 2 อาจตีความว่า รัฐธรรมนูญของรัฐหรือ กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ หรือ สภาคองเกรสแห่งชาติ หากพบว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของรัฐบาลกลางแล้วจะทำให้กฎหมายเหล่านั้นไม่มีผลบังคับใช้ คำวินิจฉัยอรรถคดีต่างๆ ของศาลสูงสุด คือเครื่องยืนยันได้ถึงหลักการแห่งความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

     รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1789 นั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนบทบัญญัติดั้งเดิม อันมีเพียงบทนำกับอีก 7 มาตรา (Article) โดยที่แต่ละมาตรา จะมีอยู่หลายๆ อนุมาตรา (Section) ซึ่งบทบัญญัติทั้งหมดนั้นล้วนว่าด้วยเรื่อง กฎเกณฑ์การปกครองประเทศ ทั้งสิ้น กับอีกส่วน คือ ส่วนบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (Amendments) ได้แก่ บทบัญญัติเรื่องอื่นหรือหากมีข้อความใดล้าสมัย หรือ ขาดตกบกพร่องนั้น ก็ใช้วิธีร่างใหม่ให้ถือเป็นบทแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องถูกบัญญัติเอาไว้ต่อท้ายเพิ่มขึ้นตามลำดับต่อไป ในอีกภาคหนึ่ง นั่นเอง

     จุดมุ่งหมายอันเป็นหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญมีอยู่ด้วยกันหลายประการ อย่างไรก็ตาม ท่านจึงได้เขียนเป้าหมายเหล่านั้นลงไว้อย่างชัดเจนน่าชมด้วยคำเพียง 52 คำเป็นบทนำ (Preamble) ของรัฐธรรมนูญว่า “เราประชาชนแห่งสหรัฐ เพื่อให้การรวมกันเป็นชาติสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เพื่อให้มี ความยุติธรรม เพื่อความสงบภายในประเทศเพื่อการป้องกันประเทศร่วมกัน เพื่อการส่งเสริมสวัสดิภาพโดยทั่วไป และเพื่อธำรงรักษาเสรีภาพไว้ให้คนรุ่นเราและคนรุ่นหลังได้ชื่นชมต่อไปจึงได้บัญญัติและสถาปนารัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกานี้ขึ้นมา” 
 
Preamble

8.5 ความเป็นสหพันธรัฐ

    หลังจากที่เพิ่งได้ชัยชนะจากการปฏิวัติล้มระบบการปกครองที่กดขี่มาใหม่ๆอดีตชาวอาณานิคมอเมริกันย่อมไม่ต้องการจะรับรัฐบาลแบบรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางและมีอำนาจไม่จำกัดอีกแบบหนึ่งมาแทนที่ซึ่งอาจจะมาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปที่อพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนมา เพื่อหลีกหนีจากความบีบคั้นทางการเมือง หรือ ศาสนา หรือรูปแบบเศรษฐกิจที่ตายตัว(กล่าวคือ คนต้องอยู่ในระดับฐานะทางสังคมอย่างหนึ่งอย่างใดตลอดไปเปลี่ยนไม่ได้ไม่ว่าผู้นั้นจะมีความสามารถและขยันขันแข็งเพียงใด) แต่ในอีกแง่หนึ่ง ประสบการณ์ที่ได้รับจากความไม่มีเสถียรภาพ และไม่มีระบบตามบทบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งและกรณีพิพาทระหว่างรัฐต่างๆ ได้ทำให้คนเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้เทอดทูนในสิทธิเสรีภาพอย่างยิ่ง ยอมรับว่าอำนาจปกครองระดับประเทศจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้พอที่จะรักษาเอกราชได้แต่ต้องไม่เข้มแข็งจนสามารถรังแกประชาชนด้วย

      กระทั่ง เอกสารเฟเดอรัลลิสต์ (The Federalist)  ได้เสนอแนวคิดว่า
แทนที่แต่ละรัฐจะมีอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่ตามแบบสมาพันธรัฐ รัฐต่างๆ ก็ควรจะมี อำนาจอธิปไตยบางส่วน หรือ ในทุกๆ ด้าน ยกเว้นเฉพาะกิจการในระดับประเทศ หรือ ในเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ เช่น การป้องกันประเทศ การคลัง และการค้า เท่านั้น ตามรูปแบบสหรัฐ จะให้น้ำหนักแก่อำนาจปกครองของรัฐบาลกลางมากกว่า แต่ทว่าจะยังคงมีความเป็นอิสระของรัฐที่แยกกัน ทั้งในระดับชาติ ระหว่างรัฐบาลแห่งชาติกับรัฐบาลแห่งรัฐ และในระดับรัฐ ระหว่างแต่ละมลรัฐด้วยกันเอง เอกสารดังกล่าวนี้ มีส่วนอย่างมากทีเดียวที่ทำให้หลายๆ รัฐ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐนิวยอร์ค) เอนเอียงมายอมให้สัตยาบันรับรองรัฐธรรมนูญ ในที่สุด จึงได้เกิดเป็นระบบใหม่ ซึ่งถูกเรียกว่า ระบอบสหพันธรัฐ (Federation) ขึ้นมา
The Federalist
 
      เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ได้ จึงผิดแผกจากบทบัญญัติแห่งสหพันธรัฐอย่างมากในแง่ที่ว่า รัฐธรรมนูญได้เปลี่ยนรูปของรัฐจากแบบสมาพันธรัฐมาเป็นแบบสหพันธรัฐ ซึ่งเป็น รัฐรวม ที่แข็งแกร่งแน่นหนา ประกอบด้วยหลายมลรัฐ และแต่ละมลรัฐจะแยกตัวออกไม่ได้ โดยกำหนดให้มีรัฐบาลกลาง (Federal Government) มีรัฐสภาและศาลสูงสุดของสหรัฐ ที่มีความเข้มแข็ง และมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่างๆ และเป็นผู้รับผิดชอบเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในเรื่องสำคัญๆ ตลอดทั้งสหรัฐ ส่วนมลรัฐต่างๆ นั้นก็ยังคงมีอำนาจอธิปไตยที่จำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐ คือ มีรัฐบาลรัฐ (State Government) สภานิติบัญญัติและศาลของมลรัฐ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกการปกครองของมลรัฐแต่ละแห่ง และกิจการในรัฐแต่ละรัฐ ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของมลรัฐนั้นๆ เอง ซึ่งทุกมลรัฐมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง

      แน่นอน การแบ่งสรรปันส่วนอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลของมลรัฐ ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐ กล่าวคือ รัฐบาลกลาง (ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี เมืองหลวงของประเทศ) จะมี ฐานะเหนือกว่า รัฐบาลของมลรัฐ (ตั้งอยู่ที่แต่ละมลรัฐ 50 แห่งทั่วประเทศ) ตัวอย่างของอำนาจรัฐบาลกลางที่สำคัญๆ อาทิ ตามมาตรา 1 อนุมาตรา 8 ได้กำหนดอำนาจของสภาคองเกรสไว้อย่างชัดเจน เช่น 
     1) บทบาททางด้านเศรษฐกิจการคลัง อำนาจที่จะเก็บภาษีอากร ผลิตเงินตรา กำหนดค่าของเงินตรา การกู้หนี้ยืมสิน ใช้หนี้รัฐบาล การค้ากับต่างประเทศ
     2) บทบาททางด้านการทหาร จัดตั้งกองทัพ จัดการป้องกันประเทศ ประกาศสงคราม
     3) บทบาททางด้านการต่างประเทศ ทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ

       ตลอดจนยังมีอำนาจโดยปริยายที่จะออกกฎหมายใดๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม (necessary and proper) เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายและอำนาจหน้าที่ดังกล่าว สามารถกระทำการต่อไปได้ ขณะเดียวกันในมาตรา 1 อนุมาตรา 10 ก็ได้จำกัดอำนาจของมลรัฐในหลายๆ เรื่อง เช่น ห้ามมิให้มลรัฐทำสัญญากับต่างประเทศ ห้ามผลิตเงินตรา เป็นต้นในขณะที่รัฐบาลกลางมีอำนาจดังข้างต้นที่กล่าว รัฐธรรมนูญอเมริกาก็ไม่ได้ระบุอำนาจโดยเฉพาะเจาะจงใดๆ ของมลรัฐไว้เลย ซึ่งต่อมา บทแก้ไขฯ ที่ 10 ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา (10th Amendment, 1791) จึงได้กำหนดเป็นหลักไว้ว่า “บรรดาอำนาจที่มิได้บัญญัติมอบหมายให้เป็นของรัฐบาลสหรัฐ หรือที่มิได้ห้ามมลรัฐไม่ให้มีนั้น ให้สงวนไว้เป็นอำนาจของมลรัฐต่างๆ หรือสำหรับประชาชน” เช่น มลรัฐมีอำนาจที่จะออกกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับ กิจการภายในของมลรัฐของตน ได้ตราบเท่าที่การใช้อำนาจดังกล่าวไม่ไปขัดกับอำนาจออกกฎหมายของรัฐบาลกลาง ผลก็คือว่า อำนาจอะไรที่ไม่ใช่ของรัฐบาลแห่งชาติ มลรัฐก็มีสิทธิที่จะใช้อำนาจนั้นได้

 
8.6 หลักการแบ่งแยกอำนาจ

    นอกจากการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐบาลมลรัฐกับรัฐบาลกลางแล้ว ยังมีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยระหว่างฝ่ายต่างๆ ของรัฐบาลกลางอีกด้วย เพื่ออาศัยเป็นกลไกในการจำกัดอำนาจของรัฐบาล กล่าวคือ รัฐธรรมนูญนี้ กำหนดให้กลไกการปกครองแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ อำนาจนิติบัญญัติ (Legislature) ซึ่งเป็นของรัฐสภา อำนาจบริหาร ซึ่งเป็นของประธานาธิบดี (Presidency) และอำนาจตุลาการ (Judiciary) ซึ่งเป็นของศาลสูงสุด จะถูกแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดแน่ชัด อำนาจที่มอบให้ฝ่ายหนึ่ง ถูกกำหนดอย่างระมัดระวังให้ถ่วงดุลอำนาจของอีกสองฝ่าย แต่ละฝ่ายจะมีวิธีที่คอยคานรั้งฝ่าย อื่นๆ มิให้มีอำนาจเกินขอบเขต หรือ มิให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งมีอำนาจมากจนครอบงำอำนาจอื่นๆ ได้เราเรียกว่า ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ด้วยความเชื่อที่ว่า อำนาจมักทำให้คนเสื่อม หากรวมอำนาจไว้ที่แห่งเดียวกันก็ยิ่งจะอันตรายมาก แตกต่างกับระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่อังกฤษเป็นแม่แบบ ซึ่งเป็นการหลอมรวมอำนาจอธิปไตยส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐสภา เพราะของสหรัฐนั้น เมื่อแบ่งแยกอำนาจทั้ง 3 ทางแล้ว จะมีความเกี่ยวพันกันในเชิงโครงสร้าง น้อยมาก ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตาม หลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of powers) ของมองเตสกิเออ ดังจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป

 
8.7 การปกครองของสหรัฐอเมริกาโดยสังเขป
    8.7.1 ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดี (President)

White House

       ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คือ คนหนึ่งคนเดียว (ต้องเป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิดและอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และอาศัยอยู่ในสหรัฐ มาไม่น้อยกว่า 14 ปี) ซึ่งเป็นทั้งประมุขของรัฐ และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยมีรองประธานาธิบดีอีกหนึ่งคน ซึ่งมาจากระบบของการเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านทางคณะผู้เลือกตั้ง ตามวิธีการที่กำหนดในกฎหมาย ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 2 สมัย ไม่ได้ คือ ให้เป็นได้อย่างมากแค่ 2 สมัยเท่านั้น (22nd Amendment, 1951)
 
George Bush
ประธานาธิบดี 
 
Cheney
รองประธานาธิบดี
             8.7.1.1 อำนาจของประธานาธิบดี

              รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่ผู้เดียวในภารกิจหลักเกี่ยวกับการปกป้องรัฐธรรมนูญและบังคับใช้กฎหมายที่ออกโดยสภาคองเกรส สำหรับอำนาจหน้าที่อื่นๆ ของประธานาธิบดีที่สำคัญๆ ตามมาตรา 2 อนุมาตรา 2 ได้แก่ อำนาจด้านนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีในฐานะผู้นำหมายเลขหนึ่งของประเทศ ย่อมมีบทบาทสำคัญทางนิติบัญญัติในการริเริ่ม การเสนอนโยบายและกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารกิจการประเทศชาติของรัฐบาลกลางต่อสภาคองเกรส และมีสิทธิออกกฎหมายในรูปอื่นๆ ได้อำนาจตุลาการ ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอขอแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด และผู้พิพากษาศาลลำดับรองลงมาอื่นๆ ของรัฐบาลกลาง โดยต้องได้รับความยินยอมจากวุฒิสภา อำนาจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ อำนาจในการให้อภัยโทษทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขแก่ผู้ที่ถูกพิพากษาโทษว่าละเมิดกฎหมายของรัฐบาลกลาง ยกเว้นในกรณีที่เป็นการถูกฟ้องขับจากตำแหน่งอำนาจบริหาร และอำนาจด้านกิจการต่างประเทศ ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ ทั้งยังเป็นผู้ทำสนธิสัญญา ภายใต้ความเห็นชอบของรัฐสภา ตลอดจนเป็นผู้ที่แต่งตั้งทูตเพื่อดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ แต่งตั้งรัฐมนตรีประจำกระทรวงและหัวหน้าหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่สำคัญๆ ของรัฐบาลกลางอื่นๆ กระทรวง โดยความเห็นชอบของวุฒิสภา นอกจากนั้นยังให้อำนาจประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งรองประธานาธิบดีโดยความเห็นชอบของสภาคองเกรส เมื่อตำแหน่งนั้นว่างลง

              8.7.1.2 การยับยั้งกฎหมาย

               ในขณะเดียวกัน ตามมาตรา 1 อนุมาตรา 7 ประธานาธิบดีก็สามารถใช้สิทธิ ยับยั้งร่างกฎหมายใดๆ ที่ผ่านโดยสภาคองเกรสมาแล้วได้ด้วย และร่างกฎหมายนั้นๆ จะตกไป เว้นเสียแต่ว่า เมื่อร่างกฎหมายนั้นๆ กลับเข้าสู่สภาคองเกรสแล้วได้รับเสียงข้างมากเห็นชอบจากสมาชิกของแต่ละสภา ถึง 2 ใน 3 ทั้ง 2 สภา จึงจะมีผลลบล้างสิทธิยับยั้งอันนี้ได้ โดยที่ ประธานาธิบดี อาจจะปฏิเสธไม่ยอมลงนามในร่างกฎหมายนั้น โดยไม่ใช้สิทธิยับยั้งได้ด้วย ในกรณีเช่นนี้ ร่างกฎหมายนั้น จะกลายเป็นกฎหมายโดยที่ประธานาธิบดีไม่ต้องลงนาม เมื่อเวลาผ่านไป 10 วัน หลังจากที่ร่างกฎหมายไปถึงประธานาธิบดีกฎนี้มีข้อยกเว้นอยู่อย่างเดียว คือ เมื่อสภาคองเกรสปิดสมัยประชุมหลังจากส่งร่างกฎหมายไปให้ประธานาธิบดีแล้ว และก่อนครบกำหนด 10 วันนั้น การที่ประธานาธิบดีไม่ดำเนินการใดๆ ทำให้ร่างกฎหมายนั้นตกไป วิธีนี้ เรียกว่า การยับยั้งแบบเก็บใส่กระเป๋า หรือ Pocket veto

               ส่วนตำแหน่ง รองประธานาธิบดี (Vice President) นั้น รัฐธรรมนูญได้ระบุหน้าที่เอาไว้เพียงน้อยนิด กล่าวคือ นอกจากจะมีบทบาทและหน้าที่อื่นเท่าที่ประธานาธิบดีจะมอบหมายให้แล้ว รองประธานาธิบดียังมีสิทธิเข้ารับช่วงตำแหน่งประธานาธิบดี ในกรณีที่ประธานาธิบดีถึงแก่ อสัญกรรม ลาออก หรือ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อีกทั้งยังได้เป็นประธานวุฒิสภา (โดยตำแหน่ง) ด้วยเช่นกัน โดยที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้สภาคองเกรสเป็นผู้กำหนดลำดับผู้สืบทอดตำแหน่งถัดจากรองประธานาธิบดี

               ปัจจุบัน ในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีว่างลงทั้งคู่ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ถัดจากนั้นก็เป็นประธานชั่วคราวของวุฒิสภา (คือ วุฒิสมาชิกผู้ที่วุฒิสภาเลือกให้ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา ในกรณีที่รองประธานาธิบดีไม่อยู่) ถัดไปก็จะเป็นรัฐมนตรีตามลำดับที่ได้รับแต่งตั้ง นั่นเอง

               ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ระบุข้อบัญญัติเกี่ยวกับสถาบันคณะรัฐมนตรี ไว้ ผิดกับกรณีของระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ซึ่งไทยใช้เป็นแม่แบบกำหนดให้อำนาจบริหารอยู่ที่คณะรัฐมนตรี แต่กระนั้น เพื่อให้เป็นไปตามความจำเป็นในทางปฏิบัติ ไม่ว่าคณะรัฐมนตรีจะได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาประธานาธิบดีหรือไม่ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่ประธานาธิบดีจะปฏิบัติงานในหน้าที่โดยไม่มีผู้แนะนำและช่วยเหลือได้ รัฐมนตรีจึงมีฐานะเป็นในการผู้ช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของประธานาธิบดีในด้านการควบคุม กำกับ ดูแล กระทรวงต่างๆ ของรัฐบาล โดยที่แต่ละกระทรวงมีข้าราชการหลายคน มีสำนักงานอยู่ทั่วประเทศ และอาจจะแบ่งย่อยเป็นกรม กอง สำนักงาน และหน่วยงาน ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีหน้าที่ปฏิบัติงานในส่วนของตน

               สำหรับรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ ทั้ง 14 กระทรวงนั้น ประธานาธิบดีจะเป็นผู้คัดเลือกเอง โดยได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดี พร้อมกับองค์กรเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกรวมกันว่า สำนักบริหารของประธานาธิบดี นอกจากกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลกลางแล้ว ก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆ อีกมากที่รับผิดชอบอย่างสำคัญ ในอันที่จะทำให้งานต่างๆ ของรัฐบาลดำเนินไปโดยราบรื่น หน่วยงานเหล่านี้ เราเรียกว่า องค์กรอิสระ เนื่องจากไม่ได้สังกัดอยู่ในกระทรวงหนึ่งกระทรวงใด ลักษณะและจุดประสงค์ขององค์กรเหล่านี้ แตกต่างกันไปอย่างมาก องค์กรอิสระที่นับว่าสำคัญมากที่สุด มีอาทิเช่น สำนักงานข่าวกรองกลาง(CIA) สำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) เป็นต้น

             8.7.1.3 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 

               เมื่อชาวอเมริกันไปออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี หลายคนเชื่อว่าตนกำลัง เลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง แต่ในทางทฤษฎีมิได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากระบบเลือกตั้งอเมริกันมีคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีอันเป็นมรดกตกทอดทางรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา

               การเลือกตั้ง (Election) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นการเลือกตั้งผ่านการลงคะแนนเสียงของ คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral college)  ซึ่งถูกตั้งขึ้นตามมาตรา 2 อนุมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ เมื่อผู้มีสิทธิออกเสียงในแต่ละรัฐไปลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในวันเลือกตั้ง ซึ่งตรงกับวันอังคารแรกถัดจากวันจันทร์แรกในเดือนพฤศจิกายนของทุกๆ 4 ปี (ในปี ค.ศ. ซึ่งหารด้วยสี่ลงตัว) ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียง(popular vote) ภายในแต่ละรัฐ จะได้รับคะแนนเสียงของผู้เลือกตั้ง(electoral vote) ของรัฐนั้นไปทั้งหมด โดยจำนวนผู้ออกเสียงในแต่ละรัฐจะเท่ากับจำนวนรวมกันของวุฒิสมาชิกกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐนั้นๆ มีอยู่ในสภาคองเกรส ส่วนเขตเมืองหลวงดิสทริคออฟโคลัมเบีย ซึ่งไม่มีผู้แทนที่มีสิทธิ์ออกเสียงในสภาคองเกรสเลย จะมีคะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี 3 เสียง

               หลังจากนั้น คณะผู้เลือกตั้งจะร่วมประชุมกันเพื่อเลือกประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ โดยที่จำนวนผู้เลือกตั้งทั้งหมดมี 538 คน ผู้ที่ถือว่าได้รับชัยชนะจึงต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้เลือกตั้งอย่างน้อยที่สุด 270 เสียง ในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ยังไม่เคยเกิดกรณีที่ผู้เลือกตั้งออกเสียงคัดค้านผู้ที่ชนะคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ แต่อย่างใดถ้าไม่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดได้รับคะแนนเสียงข้างมาก หน้าที่เลือกประธานาธิบดีจะตกอยู่กับสภาผู้แทนราษฎร ส่วนกรณีตำแหน่งรองประธานาธิบดีนั้น วุฒิสภาจะต้องทำหน้าที่ในการตัดสินใจเลือก ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะทำพิธีสาบานตน เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดไปจากปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี

    8.7.2 ฝ่ายนิติบัญญัติ : สภาคองเกรส (Congress)
        อนุมาตรา 1 แห่งมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ มอบอำนาจนิติบัญญัติทั้งปวงของรัฐบาลกลางแก่ รัฐสภา หรือ สภาคองเกรส ซึ่งประกอบด้วยสองสภา คือ วุฒิสภา และ สภาผู้แทนราษฎร
Congress

           8.7.2.1 อำนาจของสภาคองเกรส

               แต่ละสภาของสภาคองเกรส มีอำนาจเสนอกฎหมายเกี่ยวกับทุกเรื่อง และพิจารณา อนุมัติ ร่างกฎหมายทั้งมวล ซึ่งสภาหนึ่งอาจออกเสียงคัดค้านร่างกฎหมายที่ผ่านอีกสภาหนึ่งมาแล้วก็ได้

               อีกนัยหนึ่ง สภาคองเกรส จะเป็นสถาบันที่คอยต่อต้านอำนาจของประธานาธิบดี ให้ทำอะไรได้ไม่ง่ายนัก เพราะเป็นผู้อนุมัติเงินแก่กิจการทั้งปวง โดยมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลกับอำนาจอื่นๆ มิให้มี มากจนเกินไป เช่น การให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบในการทำสนธิสัญญา การฟ้องขับข้าราชการรัฐบาลกลางออกจากตำแหน่ง (Impeachment) เป็นต้น และเมื่อนำเอาไปเปรียบเทียบกับฝ่ายบริหารแล้ว สภาคอง เกรสก็ไม่เคยไร้สมรรถภาพ หรือ เป็นเพียงตรายางรับรองการตัดสินใจของประธานาธิบดี แต่อย่างใด โดยที่อำนาจอันกว้างขวางของสภาคองเกรสถูกระบุเอาไว้ในอนุมาตรา 8 ตามมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ

           8.7.2.2 วุฒิสภา (Senate)

               วุฒิสภามีขนาดเล็กกว่าสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยผู้แทนจากแต่ละรัฐ รัฐละ 2 คนเท่าๆ กัน (จำนวนคงที่ตายตัว) ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องมีรวมจำนวน 100 คน โดยมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงในระดับรัฐ วาระของวุฒิสภามีกำหนด 6 ปี โดยในทุกๆ 2 ปี (ปี ค.ศ. ที่ลงท้ายด้วยเลขคู่) จะมีการในเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 เสมอ และสมาชิกสภาสูง ต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไป เป็นพลเมืองของสหรัฐมาอย่างน้อย 9 ปี และมีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐที่ได้รับเลือกตั้ง

               แรกเริ่มเดิมที วุฒิสมาชิกไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทว่าสภานิติบัญญัติของรัฐเป็นผู้เลือก แต่ต่อมาสืบเนื่องจากบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตราที่ 17 ซึ่งใช้บังคับเมื่อ ค.ศ. 1913 ก็ได้กำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งวุฒิสมาชิกได้โดยตรง ถือกันว่า วุฒิสมาชิก เป็นตัวแทนของแต่ละรัฐ จึงมีหน้าที่ดูแลรัฐของตนเองให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในการตรากฎหมายทั้งปวง การที่แต่ละรัฐมีสมาชิกวุฒิสภาได้ 2 คนนั้น จึงเท่ากับว่า รัฐที่เล็กที่สุด อย่าง รัฐโรดไอแลนด์ ซึ่งมีเนื้อที่เพียงประมาณ 3,156 ตารางกิโลเมตร จึงมีผู้แทนในวุฒิสภาเท่าๆ กับรัฐอลาสกา ซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด อันมึเนื้อที่มากถึง 1,524,640 ตารางกิโลเมตร และรัฐไวโอมิง ที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดเพียง 493,782 คน จึงมีผู้แทนในวุฒิสภาเท่าๆ กับรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศถึง 33,871,648 คน

               รัฐธรรมนูญกำหนดให้รองประธานาธิบดีเป็นประธานวุฒิสภา ดังนั้นรองประธานาธิบดีจึงไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนใดๆ เว้นแต่เฉพาะกรณีเมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน จึงออกเสียงชี้ขาด ในกรณีที่รองประธานาธิบดีไม่อยู่ วุฒิสภาจะเลือกประธานสภาชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่ประธานสภาแทน ประธานวุฒิสภาชั่วคราวมักจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่มีตัวแทนในแต่ละสภาเป็นจำนวนมากที่สุด

               อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ก็อย่างเช่น อำนาจให้ความเห็นชอบด้วยเสียงส่วนใหญ่ ในการแต่งตั้งทูต ผู้พิพากษาศาลของสหรัฐ ข้าราชการตำแหน่งสูง และเจ้าหน้าที่สำคัญๆ ของรัฐบาลกลางอื่นๆ ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง การให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาทุกฉบับ ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภาที่มาประชุม การกระทำดังกล่าวของฝ่ายบริหารข้างต้น หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบไม่ว่ากรณีใด ก็ให้เป็นอันโมฆะไป

 
            8.7.2.3 สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives)

               ส่วนสภาผู้แทนราษฎรนั้น ประกอบด้วย สมาชิก 435 คน มาจากแต่ละมลรัฐขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ต่างกันตามจำนวนประชากรในแต่ละมลรัฐ ซึ่งจะมีการทำสำมะโนประชากรทุกๆ 10 ปี เพื่อแบ่งสรรที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเสียใหม่ ตามความเปลี่ยนแปลงในจำนวนประชากร (ณ เวลานี้ คิดคร่าวๆ ได้เป็นอัตราส่วน 1 ที่นั่ง ต่อประชากร 530,000 คน) สภาผู้แทนราษฎรมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตามแบบแบ่งเขต และอยู่ในตำแหน่งวาระละ 2 ปี และสมาชิกสภาล่างต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี เป็นพลเมืองของสหรัฐมา 7 ปี และมีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐที่ได้รับเลือกตั้ง

               รัฐที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด คือ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในประเทศ จึงมีจำนวน ส.ส. ในปัจจุบัน มากถึง 54 คนขณะที่มีอยู่ 6 รัฐด้วยกัน ซึ่งมีจำนวนประชากรน้อยที่สุด ใกล้เคียงกัน อย่างเช่น รัฐไวโอมิง รัฐอลาสกา เป็นต้น จะมี ส.ส. เพียงรัฐละแค่คนเดียวเท่านั้นมีประชากรน้อยมากจึงมี ส.ส. ได้เพียง 1 คน

               แน่นอนว่า สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกประธานสภาเอง และประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่มีตัวแทนในแต่ละสภาเป็นจำนวนมากที่สุดเสมอ สำหรับอำนาจหน้าที่ในการเสนอ พิจารณา และอนุมัติ ร่างกฎหมายในเรื่องเกี่ยวกับ ภาษี ทั้งหมด ให้ถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่เฉพาะตัวของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

            8.7.2.4 การฟ้องขับจากตำแหน่ง (Impeachment)

               รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเพื่อการถอดถอนข้าราชการจากตำแหน่งหน้าที่ ในกรณีที่กระทำมิชอบ หรือ ผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยกระบวนการฟ้องขับจากตำแหน่ง ตามความในมาตรา 2 อนุมาตรา 4 มีว่า“ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และข้าราชการทุกคนของสหรัฐจะต้องออกจากตำแหน่งหากถูกฟ้องขับจากตำแหน่ง และถูกตัดสินว่ากระทำผิดฐานกบฏ (Treason) รับสินบน (Bribery) หรือประกอบอาชญากรรมร้ายแรง (High Crime) และความผิดทางอาญาอื่นๆ(Misdemeanors)” สมาชิกรัฐสภา และข้าราชการทหาร มิได้ อยู่ในขอบข่ายของการฟ้องขับจากตำแหน่งด้วย

               อย่างไรก็ตาม การฟ้องขับจากตำแหน่ง เป็นคำกล่าวหาของสภานิติบัญญัติที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกระทำมิชอบ มิได้หมายถึงการพิพากษาลงโทษตามข้อกล่าวหาดังกล่าวอย่างที่มักจะเข้าใจกัน

               ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญในเรื่องของการฟ้องขับข้าราชการของรัฐบาลกลางออกจากตำแหน่งนั้น สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิแต่เพียงสภาเดียวที่จะฟ้องร้องกล่าวหาว่าข้าราชการประพฤติมิชอบ ด้วยการอาศัยเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาฯ เสนอเป็นร่างกฎหมาย ให้มีการ Impeachment ต่อจากนั้นข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาจะถูกพิจารณาคดีในวุฒิสภาต่อไป โดยให้วุฒิสภาเป็นผู้สอบสวนข้อเท็จจริง (เสมือนคณะลูกขุน) ดังนั้น วุฒิสภาจึงมีอำนาจแต่เพียงสภาเดียวที่จะพิพากษาตัดสินว่า ข้าราชการผู้นั้น มีความผิดหรือไม่ หากตัดสินว่ามีความผิด โดยอาศัยเสียงลงมติถอดถอน 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาฯ ข้าราชการผู้นั้น ก็จะต้องถูกถอดออกจากตำแหน่ง โดยปกติจะมีประธานวุฒิสภาเป็นประธานในการพิจารณา เว้นแต่เมื่อมีกรณีฟ้องขับประธานาธิบดี หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดจะทำหน้าที่ประธานฯ แทน

               การฟ้องขับจากตำแหน่ง ถือว่าเป็นมาตราการรุนแรงที่สุด โดยเท่าที่ผ่านมาใช้กันน้อยครั้งมาก สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนให้เสนอการฟ้องดังกล่าวเพียง 17 ครั้งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ในจำนวนคนที่ถูกฟ้อง 17 คน เป็นผู้พิพากษาของรัฐบาลกลาง 13 คน และคนทั้ง 7 คน ซึ่งถูกวุฒิสภาตัดสินว่ามีความผิด ก็เป็นผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางทั้งหมด 

               กรณีประธานาธิบดีนั้น เมื่อ ค.ศ. 1868 ประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ถูกฟ้องขับจากตำแหน่งในประเด็นที่ว่า ปฏิบัติการไม่เหมาะสมต่อรัฐของสมาพันธรัฐที่แพ้สงครามกลางเมือง กระนั้นก็ดี คะแนนเสียงของวุฒิสภาได้ไม่ถึง 2 ใน 3 ที่จะให้ตัดสินว่ามีความผิด เพราะขาดไปเพียงคะแนนเดียวและประธานาธิบดีจอห์นสัน ก็ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ ต่อมาในปี 1974 อันเนื่องมาจากคดีวอร์เตอร์เกต ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง หลังจากที่คณะกรรมาธิการตุลาการของสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้ใช้มาตรการนี้กับประธานาธิบดีนิกสัน แต่ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาจะได้ลงคะแนนเสียงตัดสินว่าจะออกมาเป็นกฎหมายหรือไม่ สำหรับประธานาธิบดีคนที่สาม หรือ เป็นคนล่าสุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนนั้น ก็คือ ประธานาธิบดีบิล คลินตัน กล่าวคือ ในช่วงปี 1998 - 1999 ประธานาธิบดีคลินตันถูกสภาผู้แทนราษฎร ลงมติกล่าวโทษว่า ให้การเป็นพยานเท็จ และขัดขวางกระบวนการยุติธรรมเนื่องด้วยกรณีความสัมพันธ์ทางเพศอันอื้อฉาวระหว่างเขากับนักศึกษาฝึกงานของทำเนียบขาวที่ชื่อ โมนิกา ลูวินสกี แต่เอาเข้าจริง คะแนนเสียงในชั้นวุฒิสภาที่จะตัดสินว่าเขามีความผิดนั้น ก็กลับได้ไม่ถึง 2 ใน 3 ในที่สุดเขาจึงพ้นโทษ และไม่ต้องออกจากการเป็นประธานาธิบดีก่อนวาระอันควร 

             8.7.2.5 การเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรส 

               สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีอำนาจเกือบเท่าเทียมกัน แต่วิธีการเลือกตั้งของสภาทั้งสอง กลับแตกต่างกันพอสมควร ผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา มีเจตนารมณ์ที่จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีความใกล้ชิดกับประชาชน และออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการ และความใฝ่ฝันของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จึงได้วางรูปแบบของสภาผู้แทนราษฎรให้มีขนาดใหญ่พอสมควร และกำหนดให้มีการเลือกตั้งค่อนข้างบ่อยครั้ง คือ ทุกๆ 2 ปี ที่นั่ง ส.ส. แต่ละคนในสภาผู้แทนราษฎรหมายถึง เขตเลือกตั้งแต่ละเขต ส.ส. แต่ละคนจะได้รับการเลือกตั้งมาด้วยระบบ เขตเดียวเบอร์เดียว (single-member) และผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ถือว่าชนะการเลือกตั้ง รัฐแต่ละรัฐในจำนวน 50 รัฐต้องมี ส.ส.อย่างน้อย 1 คน ส่วนจะมีส.ส. เพิ่มขึ้นอีกเท่าใดขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในรัฐนั้นๆ

               สำหรับวุฒิสภานั้น ในตอนแรก ได้รับการวางรูปแบบให้เป็นตัวแทนของรัฐต่างๆ และวุฒิสมาชิกในสมัยนั้น ก็ได้รับการคัดเลือก โดยสภานิติบัญญัติของรัฐแต่ละรัฐ แต่นับตั้งแต่มีการผ่านกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 เมื่อปี พ.ศ. 2456 เป็นต้นมา วุฒิสมาชิกจึงได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในรัฐของตน แต่ละรัฐมีวุฒิสมาชิกได้ 2 คนซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี และจะมีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก 1 ใน 3 ของจำนวนวุฒิสมาชิกทั้งหมดทุกๆ 2 ปี ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดถือเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งและรัฐแต่ละรัฐถือเป็นเขตเลือกตั้ง 1 เขตที่ซึ่งผู้สมัครจะเลือกผู้สมัครได้เพียง 1 คน (single-member district)

 
    8.7.3 ฝ่ายตุลาการ

        ฝ่ายที่สามของระบบการปกครองสหรัฐ คือฝ่ายตุลาการ ซึ่งประกอบด้วยระบบศาลแห่งสหรัฐแผ่กว้างไปทั่วประเทศ มีศาลสูงสุดที่มีหนึ่งศาลเป็นประธาน โดยมีศาลรองๆ ลงมาอีกตามความจำเป็น แต่รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้มีศาลของรัฐบาลกลางที่มีอำนาจจำกัด ดังมาตรา3 แห่งรัฐธรรมนูญได้วางหลักของระบบศาลของรัฐบาลกลางไว้ว่า “อำนาจตุลาการของสหรัฐ จะมอบให้แก่ ศาลสูงสุด ซึ่งมีศาลเดียว และศาลล่างอื่นๆ ที่สภาคองเกรสจะบัญญัติ และตั้งขึ้นตามโอกาส”

        ตามหลักดังกล่าว สภาคองเกรสชุดแรก ได้แบ่งประเทศออกเป็นเขตศาล และตั้งศาลรัฐบาลกลางขึ้นในแต่ละเขตศาลนั้น จากจุดเริ่มต้นนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงระบบศาลเรื่อยมาจนเป็นรูปแบบปัจจุบัน กล่าวคือ มีศาลสูงสุด ศาลอุทธรณ์ 11 ศาล ศาลประจำเขต 91 ศาลและศาลที่มีเขตอำนาจพิเศษ 3 ศาล

        รัฐธรรมนูญคุ้มครองความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการโดยบัญญัติว่า ผู้พิพากษาของศาลรัฐบาลกลางทั้งหลายจะได้ดำรงตำแหน่ง ตราบเท่าที่ยังมีความประพฤติดี ซึ่งในทางปฏิบัติ ก็คือ สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีวิต จนกว่าจะพ้นตำแหน่งไปด้วยเหตุอื่น เช่น ตาย หรือ ลาออก นั่นเอง แต่ไม่มีการเกษียณอายุ หากผู้พิพากษากระทำความผิด ถึงแม้ว่าในขณะอยู่ในตำแหน่ง ก็อาจถูกฟ้องขับออกจากตำแหน่งได้เช่นเดียวกับประธานาธิบดี หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของรัฐบาลกลาง ผู้พิพากษาของสหรัฐนั้น ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอแต่งตั้งด้วยคำแนะนำและยินยอมของวุฒิสภา

             8.7.3.1 ศาลสูงสุด

         
           ศาลสูงสุด (Supreme Court) เป็นศาลที่มีอำนาจสูงสุดในสหรัฐ และเป็นศาลเดียวเท่านั้นที่รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นไว้ การวินิจฉัยคดีของศาลสูงสุด ถือว่าเป็นที่สุด ไม่สามารถจะอุทธรณ์ต่อไปยังศาลอื่นๆ ได้อีก สภาคองเกรสมีอำนาจกำหนดจำนวนผู้พิพากษา และมีอำนาจกำหนดได้ในขอบเขตหนึ่งว่าศาลสูงสุดควรจะพิจารณาคดีอะไรได้บ้าง แต่สภาคองเกรสไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอำนาจของศาลสูงสุดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้

                    นับตั้งแต่มีการตั้งศาลสูงสุดขึ้นมา จำนวนผู้พิพากษาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จนกระทั่ง ค.ศ. 1869 จึงมีการกำหนดแน่นอนให้มีหัวหน้าผู้พิพากษา 1 คนและผู้พิพากษาสมทบ 8 คน

                    คดีที่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลสูงสุดโดยตรงมีเพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ คดีที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญของต่างประเทศ และคดีที่รัฐเป็นคู่ความ คดีอื่นๆ นอกนั้นล้วนแต่เป็นคดีที่อุทธรณ์ขึ้นมาจากศาลล่าง

Supreme Court
                    แต่ละปีจะมีคดีขึ้นมาถึงศาลสูงสุดหลายพันคดี คดีส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการตีความกฎหมายหรือเจตนารมณ์ของสภาคองเกรสในการออกกฎหมายฉบับนั้นอย่างไรก็ดี งานส่วนสำคัญของศาลสูงสุด คือ การตัดสินว่าการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ฝ่ายบริหารสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อำนาจในการตรวจสอบนี้ก็ไม่ได้มีระบุเจาะจงไว้ในรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นอำนาจโดยอนุโลม ตามหลักการที่ศาลตีความเอาจากรัฐธรรมนูญในเรื่องสำคัญๆ และได้แถลงไว้อย่างชัดเจนในคดีประวัติศาสตร์สำคัญระหว่าง Marbury v. Madison ใน ค.ศ. 1803 ในคำพิพากษาคดีนี้ ศาลสูงสุดอ้างอำนาจนี้ โดยกล่าวไว้ว่า กฎหมายใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญย่อมไม่เป็นกฎหมาย และให้มีข้อสังเกตต่อไปว่า ฝ่ายตุลาการมีหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างแน่ชัดที่จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า อะไรคือกฎหมาย ? อำนาจนี้ก็ก่อตัวเป็นระบบและเป็นที่ยอมรับกันตลอดมา

                    คำวินิจฉัย คำพิพากษา และคำตัดสินของศาลนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเอกฉันท์ แต่ต้องเป็นเสียงข้างมาก และมีข้อแม้ว่า ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 6 คน (ซึ่งเป็นองค์คณะผู้พิพากษา) มาร่วมในการพิจารณาคดี ในกรณีที่ผู้พิพากษามีความเห็นแตกแยกกัน ศาลก็มักจะแสดงไว้ทั้งความเห็นของผู้พิพากษาส่วนใหญ่และความเห็นผู้พิพากษาส่วนน้อยหรือความเห็นแย้ง ความเห็นทั้งสองแบบนี้ อาจเป็นแนวทางการตัดสินคดีของศาลนี้ในอนาคตได้ ผู้พิพากษาที่เห็นด้วยกับคำตัดสิน แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างไปจากที่ผู้พิพากษาส่วนใหญ่ให้ไว้ ก็จะบันทึกความเห็นที่ต่างไปไว้ในคำตัดสินนั้นด้วย

                8.7.3.2 การตีความรัฐธรรมนูญ (Judicial review)

         
           ศาลสูงสุดเท่านั้น มีอำนาจที่จะตีความรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติของมลรัฐ หรือ สภาคองเกรสแห่งชาติ ผิดไปจากเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ หากพบว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแล้วบทบัญญัติเหล่านั้น จะไม่มีผลบังคับใช้ กล่าวคือ ศาลสูงสุดเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่า การกระทำของฝ่ายรัฐบาลก็ดี กฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติก็ดี ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ การควบคุมมิให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปเพื่อปกปักรักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ให้คงสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดได้อย่างแท้จริงนั่นเอง โดยนัยนี้ ศาลสูงสุดสหรัฐจึงมีฐานะเป็นศาลรัฐธรรมนูญในความหมายของประเทศต่างๆ ในยุโรป มากกว่าจะนับเป็นศาลฎีกาคดีแพ่งคดีอาญาทั่วไป ซึ่งมีศาลอื่นๆ พิจารณาอยู่แล้ว
รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเ็ป็นกฎหมายสูงสุุด
8.8 ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล 

        ระบบการเมืองแบบอเมริกันต่างจากระบบรัฐสภาตรงที่มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างสภาคองเกรส กับประธานาธิบดี กล่าวคือ นอกจากโครงสร้างการปกครองของสหรัฐ จะถือหลักการแบ่งแยกอำนาจค่อนข้างเด็ดขาด อย่างเช่น สภาคองเกรสเป็นผู้ร่างกฎหมาย และผ่านกฎหมายทุกฉบับ ก่อนที่ประธานาธิบดีจะลงนามอนุมัติ (หรือคัดค้าน) กฎหมายเหล่านั้น แต่ฝ่ายบริหารไม่มีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย ไม่มีอำนาจเสนอให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจตั้งกระทู้ถามประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีและไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ศาลมีอำนาจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี (โดยยอมให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อ “คานและดุลย์” ได้แต่เพียงให้ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาโดยได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา) เป็นต้น ในความสัมพันธ์ระหว่างองค์อำนาจทั้ง 3 ฝ่ายนี้แล้ว

        ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีการตรวจสอบหรือคานอำนาจซึ่งกันและกัน เช่น สภาคองเกรสมีอำนาจในการออกพระราชบัญญัติ แต่ประธานาธิบดีมีสิทธิจะยับยั้งได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อประธานาธิบดีได้ใช้สิทธิ ยับยั้งแล้ว หากร่างพระราชบัญญัตินั้น ได้ผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรสเป็นครั้งที่สอง โดยได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ก็จะออกเป็นกฎหมายได้ ในทางกลับกัน ประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจ แต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลสูงสุดและรัฐมนตรี แต่การเสนอเพื่อแต่งตั้งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เสียก่อน ส่วนผู้พิพากษานั้น เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว แต่สภาคองเกรส ก็สามารถจะกล่าวโทษผู้พิพากษาได้เมื่อมีเหตุ หรือ มลทินมัวหมอง มาตรการถอดถอนนี้ รวมถึงกรณีตัวประธานาธิบดีเองเช่นกัน ในทำนองเดียวกัน ศาลสูงสุด ก็มีอำนาจที่จะประกาศว่ากฎหมายหรือการกระทำใดที่ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญได้ด้วย

        กระนั้น หลักของการสร้างดุลอำนาจหรือคานอำนาจนี้ ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง 3 สถาบันได้แต่ก็เพื่อที่จะบังคับให้ทั้ง 3 สถาบันนี้ ต้องร่วมมือกัน และไม่ให้ใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ นั่นเอง แม้แต่ ในระหว่างสภาคองเกรสก็ยังกำหนดให้มีสองสภา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการคานอำนาจกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาด้วยเช่นกัน

        นอกจากนี้ การที่เรามีการเลือกตั้ง ตำแหน่งทางการเมือง ทุกตำแหน่งอย่างเป็นอิสระจากกัน หมายความว่า พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง เป็นฝ่ายกุมอำนาจในสภาคองเกรส ในขณะที่สมาชิกจากพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่ง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การปกครองแบบแยกอำนาจเช่นนี้ กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีช่วงเวลาถึง 14 ปี ที่พรรคการเมืองที่กุมอำนาจในสภาคองเกรส และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นคนละพรรคกัน ตัวอย่างเช่น พรรครีพับลิกัน ได้ครองเสียงข้างมาก ในสภาคองเกรสมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 นั่นคือ ช่วงเวลา 6 ปีจากทั้งหมด 8 ปีที่ บิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครตดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ดังนั้น ในการเลือกตั้งหลายครั้ง จึงย่อมหมายถึง การชี้ขาดอีกเช่นกันว่า การปกครองของสหรัฐอเมริกา จะคงเป็นการแยกอำนาจเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา หรือ จะกลายเป็นการกุมอำนาจ ทั้งในสภาคองเกรสกับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยพรรคการเมืองพรรคเดียวกันเท่านั้น
คลิ๊กดูภาพขยาย
Check-and-balance

8.9 บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

         การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมในวงกว้างที่สุดทำกันในช่วงปีแรกๆ ที่นำรัฐธรรมนูญมาใช้ กล่าวคือ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1791 ในช่วงนั้นแล้ว ได้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงไม่สมบูรณ์ เพราะบัญญัติแต่เพียงกลไกการปกครองประเทศ และการจัดองค์กรทางการเมือง แต่หามีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ ดังนั้น ที่ประชุมสภานิติบัญญัติของหลายรัฐจึงได้ทักท้วงความข้อนี้เมื่อคราวให้สัตยาบันแก่ร่างรัฐธรรมนูญจนถึงกับตั้งเป็นเงื่อนไขว่า ถ้าไม่มีบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญแล้ว จะไม่ยอมให้สัตยาบันเป็นอันขาด

        ในที่สุด จอร์ช วอชิงตัน ก็ได้ประนีประนอมว่า ควรให้สัตยาบันไปก่อน เพราะประเทศจำต้องมีขื่อแปของบ้านเมือง และมีกฎเกณฑ์การปกครองประเทศโดยเร็ว ท่านได้รับปากว่าจะพยายามเร่งร่างบทบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้เป็นบทแก้ไขเพิ่มเติม หรือ ภาคผนวกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุดหลังจากสภานิติบัญญัติของทุกมลรัฐได้ให้สัตยาบันแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีผลใช้บังคับนับแต่นั้นเป็นต้นไป พร้อมๆ กับได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนขึ้น โดยมี เจมส์ เมดิสัน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง คณะกรรมาธิการยกร่างบทแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นหลายมาตรา แต่สภาคองเกรส ยอมรับพร้อมกันเพียง 10 มาตราที่เรียกรวมๆ กันว่า กฎหมายสิทธิพลเมือง(Bill of Rights) โดยเลียนแบบชื่อพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งของอังกฤษ เพื่อใช้เป็นหลักประกันว่า ประชาชนทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย และพึงได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายโดยเท่าเทียมกันบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 10 มาตราแรก ได้รับการเพิ่มเติมเข้าไปในรัฐธรรมนูญ โดยได้รับความเห็นชอบทั้ง 10 มาตราพร้อมกันจากสภาคองเกรส ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1789 และยังคงได้รับสัตยาบันจาก 11 รัฐ และมีผลใช้บังคับภายในปี ค.ศ. 1791 ถึงแม้จะเริ่มมาตราหนึ่งตั้งต้นใหม่ แต่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญด้วย ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาจึงมี 2 ภาค ภาคแรกเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดกลไกการปกครองประเทศ และภาคสองเป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและบทบัญญัติเรื่องอื่นๆ 

        บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังคงมีข้อความเหมือนกับที่เขียนขึ้นเมื่อเกือบสองศตวรรษมาแล้ว ดังนี้ 

        การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และเสรีภาพ ซึ่งมาตราที่ 1 เป็นการรับรองเสรีภาพในการนับถือ ศาสนาเสรีภาพในการพูด และเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ สิทธิในการชุมนุมกันโดยสันติ และสิทธิที่จะร้องเรียนต่อรัฐบาลเพื่อขอแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

        การคุ้มครองจากการปฏิบัติการทางทหารตามอำเภอใจ มาตราที่ 2 รับรองสิทธิของประชาชนที่จะมีอาวุธในครอบครอง ซึ่งมาตราที่ 3 ห้ามทหารใช้บ้านเรือนราษฎรเป็นที่พำนักพักพิงโดยเจ้าของบ้านไม่ยินยอมบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกห้ามาตราเป็นเรื่องของ การคุ้มครองจากปฏิบัติการตำรวจ และศาลตามอำเภอใจ กล่าวคือ มาตราที่ 4 คุ้มครองประชาชนให้พ้นจากการถูกตรวจค้น หรือจับกุม และยึดทรัพย์สินโดยไร้เหตุผล มาตราที่ 5 ห้ามการพิจารณาคดีที่มีความผิดร้ายแรง โดยมิได้ยื่นฟ้องต่อคณะลูกขุนชุดใหญ่ ห้ามฟ้องซ้ำในความผิดเดียวกันห้ามการลงโทษโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย และกำหนดว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาจะถูกบังคับให้การปรักปรำตนเองไม่ได้ ซึ่งมาตราที่ 6 รับรองว่าการพิจารณาคดีความผิดทางอาญา จะกระทำโดยเปิดเผยและโดยรวดเร็วกำหนดให้มีการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุนที่เป็นกลาง รับรองสิทธิของจำเลยที่จะมีทนายว่าความให้ และกำหนดให้พยานต้องไปให้การต่อศาล ต่อหน้าจำเลย มาตราที่ 7 กำหนดว่า ในคดีแพ่งที่มีมูลค่าเกินกว่า 20 ดอลลาร์จะต้องพิจารณาโดยคณะลูกขุน มาตราที่ 8 ห้ามการเรียกค่าประกันตัวหรือค่าปรับสูงเกินไป และห้ามการลงโทษอย่างทารุณโหดร้ายหรือผิดธรรมดา

        บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญสองมาตราสุดท้ายในชุดนี้ กล่าวถึง อำนาจของรัฐธรรมนูญไว้อย่างกว้างมาก สำหรับการคุ้มครองสิทธิของรัฐ และสิทธิที่ไม่ได้ระบุไว้ย่อมเป็นของประชาชน กล่าวคือ มาตราที่ 9 ประกาศว่า การระบุสิทธิต่างๆ ของบุคคลที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญมิได้หมายความว่าสิทธิของบุคคลมีเพียงเท่านี้ ประชาชนมีสิทธิอื่นๆ ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย มาตราที่ 10 กำหนดว่า อำนาจต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญมิได้มอบหมายให้แก่รัฐบาลกลางและมิได้ห้ามไว้ว่ามิให้ให้แก่รัฐ ให้สงวนไว้แก่รัฐหรือประชาชน

        ในเวลาต่อมา ก็ได้มีการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกหลายครั้ง กล่าวกันว่ามีผู้ริเริ่มเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมนับหลายร้อยครั้ง แต่ที่ได้รับการพิจารณาจริงๆและถูกยอมรับจนตราเป็นบทแก้ไขเพิ่มเติมนั้น มีเพียงไม่กี่ครั้ง ในปัจจุบันนี้นอกจากจะมีบทแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 10 แล้ว ยังมีบทมาตราแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง นับตั้งแต่ ค.ศ. 1789 เป็นต้นมา ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้วรวมทั้งสิ้น 27 มาตรา และคงจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกในอนาคต

        สำหรับบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีขึ้นภายหลังกฎหมายสิทธิพลเมืองนั้น มักครอบคลุมเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง มาตราที่กินความกว้างขวางที่สุด คือ มาตราที่ 14 ซึ่งได้รับสัตยาบัน เมื่อ ค.ศ. 1868 มาตรานี้ให้คำจำกัดความของการเป็นพลเมืองไว้อย่างชัดเจน และขยายการรับรองว่า รัฐบาลอาจจะต้องปฏิบัติต่อพลเมืองโดยเท่าเทียมกันตามกฎหมายให้กว้างขวางมากขึ้น วลีสำคัญในบทแก้ไขเพิ่มเติมข้อนี้ คือ “อีกทั้งรัฐใดจะรอนสิทธิในชีวิต เสรีภาพ หรือ ทรัพย์สินของผู้ใด ผู้หนึ่ง โดยไม่ผ่านกระบวนการตามกฎหมายอันสมควรมิได้”  โดยเนื้อแท้แล้ว มาตรานี้เป็นการห้ามรัฐมิให้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนใหญ่ ซึ่งกฎหมายสิทธิพลเมืองคุ้มครองอยู่อันครอบคลุมลงไปถึงในระดับรัฐด้วยเช่นกัน

        ส่วนมาตราอื่นๆ อาทิเช่น การจำกัดขอบเขตอำนาจตุลาการของรัฐบาลแห่งชาติ (มาตราที่ 11, 1795) การเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดี (มาตราที่ 12, 1804) การห้ามให้มีทาส (มาตราที่ 13, 1865) ให้การคุ้มครองสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมิให้ต้องถูกลิดรอนเพราะเชื้อชาติ สีผิว เพศ หรือการที่เคยเป็นทาสมาก่อน (มาตราที่ 15, 1870) การขยายอำนาจของสภาคองเกรสที่จะเรียกเก็บภาษีจากเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย (มาตราที่ 16, 1913) และการกำหนดวิธีการเลือกตั้งของวุฒิสมาชิกของสหรัฐโดยให้ประชาชนออกเสียงโดยตรง (มาตราที่ 17, 1913) เป็นต้น

        บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่มเติมเข้าไปในระยะหลังๆ ได้แก่ การจำกัดให้ประธานาธิบดี แต่ละคนดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระเท่านั้น (มาตราที่ 22, 1951) การให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงคือ ดิสทริคคอฟโคลัมเบีย ซึ่งมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ด้วย (มาตราที่ 23, 1961) การรับรองสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของประชาชน แม้ไม่ได้ชำระภาษีเลือกตั้งก็ตาม (มาตราที่ 24, 1964) กำหนดวิธีแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีนั้น หากเกิดว่างลงระหว่างวาระ (มาตราที่ 25, 1967) การลดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งลงเหลือ 18 ปี (มาตราที่ 26, 1971) และมาตราล่าสุด มาตราที่ 27 ว่าด้วย การจ่ายค่าตอบแทนสมาชิกสภาคองเกรส (เสนอในปี 1789 / ให้สัตยาบันในปี 1992)

 
8.10 การจัดทำบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

        ผู้ร่างรัฐธรรมนูญตระหนักดีว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นครั้งคราว หากต้องการให้รัฐธรรมนูญนี้ใช้ต่อไปได้นานๆ และเหมาะสมกับประเทศซึ่งเติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งยังคำนึงด้วยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรจะทำได้โดยง่าย มิฉะนั้นอาจมีการแก้ไขกันอย่างไม่รอบคอบ หรือรีบเร่งเป็นการไม่ดี และก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน ผู้ร่างฯ ย่อมไม่ต้องการให้คนกลุ่มน้อยสามารถขัดขวางการกระทำอันเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้ ทางออก ก็คือ กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถจัดทำได้โดย 2 วิธี ดังนี้ 

        1) วิธีแรก คือ สภาคองเกรสอาจเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ หากมีคะแนนเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของแต่ละสภา
        2) วิธีที่สอง คือ สภานิติบัญญัติของรัฐจำนวน 2 ใน 3 ของรัฐทั้งหมด (34 รัฐ) อาจขอร้องให้สภาคองเกรสจัดให้มีการประชุมแห่งชาติ เพื่อหารือ และร่างบทบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ โดยที่บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสองวิธีนี้นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐเป็นจำนวน 3 ใน 4 (38 รัฐ) เสียก่อน จึงจะมีผลบังคับใช้ได้

        จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ได้ชี้ให้เห็นว่า หลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาตราบเท่าทุกวันนี้ กล่าวโดยสรุป สหรัฐอเมริกา มีโครงสร้างหลักของประเทศ ได้แก่ ความเป็นสหพันธรัฐ หรือ รัฐรวม (สหรัฐกับมลรัฐ) และมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้การแบ่งแยกอำนาจระหว่างทั้ง 3 สถาบันอย่างเห็นได้ชัด โดยที่ได้กำหนดให้มีการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันของแต่ละฝ่ายเอาไว้ด้วย ซึ่งมีผลไม่ให้ใครมีอำนาจอันล้นพ้นเด็ดขาด แต่ยังสามารถสถาปนารูปรัฐบาลแบบประธานาธิบดีที่เข้มแข็งได้ ในขณะเดียวกันยังคงยึดมั่นในหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา
Check and Balance Model


 
“…อำนาจใดที่มีได้มอบหมายให้แก่รัฐบาลแห่งชาติ ย่อมสงวนไว้ให้แก่รัฐหรือประชาชน…”
เชิงอรรถ

[1] จุฑารัตน์ บางยี่ขัน, การเมืองสหรัฐอเมริกา, (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2528)
[2] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ : แสวงสุทธิการพิมพ์, 2530)
[3] สำนักข่าวสารอเมริกัน (ริชาร์ด ซี ชโรเดอร์ เป็นผู้เขียนต้นฉบับเดิม นาธาน กลิค เป็นผู้แก้ไข เรียบเรียง และเพิ่มเติมข้อมูลให้ทันสมัย), การปกครองของสหรัฐอเมริกา (กรุงเทพฯ : สำนักข่าวสารอเมริกัน, 2534.)
[4] สำนักข่าวสารอเมริกัน , อ้างถึงแล้ว
[5] ทั้งนี้ ตำราหลายเล่ม อาจเลือกใช้คำว่า หมวด แทนคำว่า Article กับคำว่า มาตรา หรือ ส่วน แทน Section บ้าง อันนี้ก็สุดแล้วแต่ผู้เขียนแต่ละท่าน.
[6] อ้างถึงใน สำนักข่าวสารอเมริกัน, อ้างแล้ว, หน้า 8 ต้นฉบับภาษาอังกฤษมีดังนี้ : We, the People of the United States, in Order to form a more perfect Union, establish Justice, insure domestic Tranquility, provide for the common defence, promote the general Welfare, and secure the Blessings of Liberty to ourselves and our Posterity, do ordain and establish this Constitution for the United States of America.
[7] เป็นชื่อที่มักใช้เรียกรวมบทความสั้นๆ ทั้ง 85 ชิ้น ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญมากที่จะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขียนโดย เจมส์ เมดิสัน อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน และจอห์น เจย์ เพื่อสนับสนุนรัฐธรรมนูญใหม่.
[8] วิชัย ตันศิริ, รัฐธรรมนูญประเทศตะวันตกและไทย : กรณีศึกษาทางประวัติศาสตร์
        และกฎหมาย, 
(กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2540)
[9] http://www.whitehouse.gov/
[10] สำนักข่าวสารอเมริกัน , อ้างถึงแล้ว
[11] http://www.usa.or.th/services/irc/election2000/brief.htm
[12] คณะผู้เลือกตั้ง คือ กลุ่มผู้เลือกตั้งที่ได้รับการเสนอชื่อโดยนักกิจกรรมทางการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมืองภายในรัฐ ในวันเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี ประชาชนจะไปลงคะแนนเสียงผู้เลือกตั้งที่สัญญาว่าจะให้การสนับสนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนหนึ่งคนใด.
[13] http://www.house.gov/ 
[14] สำนักข่าวสารอเมริกัน , อ้างถึงแล้ว
[15] สำนักข่าวสารอเมริกัน , อ้างถึงแล้ว
[16] http://www.historyplace.com/unitedstates/impeachments/index.html 
[17] โดย จอห์น อัลดริช ใน http://www.usa.or.th/services/irc/election2000/congress.htm
[18] Peter Cumper, Constitutional & Administrative Law, (London : Blackstone Press, 2001)
[19] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, อ้างถึงแล้ว
[20] สำนักข่าวสารอเมริกัน , อ้างถึงแล้ว
[21] สำนักข่าวสารอเมริกัน , อ้างถึงแล้ว
[22] จุฑารัตน์ บางยี่ขัน, การเมืองสหรัฐอเมริกา, อ้างถึงแล้ว
http://www.nationmaster.com/ 
http://www.oefre.unibe.ch/law/icl/us__indx.html 
http://www.usa.or.th/index-t.htm
http:// www.usa.or.th/services/irc/election2000/ 
ย้อนกลับบทต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น